การก่อตั้ง “สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย” เกิดขึ้นในงานเลี้ยงรับรองผู้แทนผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศของบริษัทแห่งหนึ่ง ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มการก่อตั้ง “ชมรมผู้ค้าเครื่องเขียนแห่งประเทศไทย” หลังจากมีการประชุมร้านค้าปลีกผู้สนใจอยู่หลายครั้งด้วยกัน จึงเกิดคณะกรรมการก่อตั้งขึ้นรวม 16 ร้านค้า มีรายนามดังต่อไปนี้

  • คุณกิตติ เอกมโนชัย ห้างชัยพานิช
  • คุณชัชพล แซ่ซิ ห้างเมืองศิลป์
  • คุณสุวรรณ นฤมิตพันธุ์เจริญ ห้างสุขุมวิท สเตชั่นเนอรี่
  • คุณทรงศักดิ์ ศุภองค์ประภา ห้างส.สากลพาณิชย์
  • คุณสมศักดิ์ ศุภองค์ประภา ห้างนิวแสงฟ้า เอ็นเตอร์ไพรส์
  • คุณจิตนา เนียมประดิษฐ์ ห้างศาลาวรรณคดี
  • คุณประสพ เจริญไทย ห้างศุภสาส์น
  • คุณอยุธ โรจน์วารยานนท์ ห้างศรีบูรพา
  • คุณเอียกกุน แซ่จิ๋ว ห้างบรรณคาร
  • คุณกำวุฒิ สันติทานนท์ ห้างสันติทานนท์
  • คุณเจริญกิจ บุญอนันต์พงศ์ ห้างเอเชียพานิช
  • คุณวิบูลย์ ประยูรพฤกษ์ ห้างฉั่วเอี่ยมหลี
  • คุณสุเทพ วัฒนพันธ์พิลาศ ร้านรัตนเทพ
  • คุณวสันต์ หาญวิชิตชัย ห้างธนบุรีการค้า
  • คุณสมเกียรติ สินธารัตน์ ร้านเอเสรี เอ็นเตอร์ไพรส์
  • คุณวินัย ตันกิติบุตร ห้างสยามมาร์เก็ตติ้ง

โดยมีคุณวสันต์ หาญวิชิตชัย (ห้างธนบุรีการค้า)
เป็นประธานท่านแรกของ “ชมรมผู้ค้าเครื่องเขียนแห่งประเทศไทย”
เวลา 17 ปีอันยาวนานของชมรมฯ
เรามีผู้นำในตำแหน่งระดับประธานรวม 4 ท่านด้วยกันคือ
ท่านแรก คุณวสันต์ หาญวิชิตชัย (ห้างธนบุรีการค้า)
ท่านที่ 2 คุณพรหม กุมมาลือ (ห้างสหสุวรรณ)
ท่านที่ 3 คุณพจน์ จิรสิริธรรม (ห้างยูนิเวอร์แซล)
ท่านสุดท้าย คุณอนันต์ พิสิฐประภา (ห้างศึกษาภัณฑ์ สำโรง)

สรุปผลการดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ.2520 – พ.ศ.2537 ชมรมฯ มีการเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง และการเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับเปิดกว้างเป็นขั้นตอนและก้าวหน้าดีขึ้นมาตลอด ด้านกิจกรรมหาทุนได้มีการจัดงานแสดงสินค้า 2 ปีครั้ง, โครงการแจกอุปกรณ์การเรียนการสอนติดต่อกันทุกปี ในช่วงสมัยที่ 2 ของคุณอนันต์ พิสิฐประภา ปี พ.ศ.2535 - พ.ศ.2537 คณะกรรมการบริหารได้มีการปรึกษาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง “ชมรม” มาเป็น “สมาคม” จึงแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎข้อบังคับสมาคมฯ ขึ้น มีรายนามดังต่อไปนี้

  • นายอนันต์ พิสิฐประภา
  • นายวินัย ตันกิติบุตร
  • นายชัยวัฒน์ อดิเรก
  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธิ
  • นายอัมเรศน์ สืบพันธุ์วงษ์
  • นายเพิ่มพงษ์ วิสุทธิ์อัมพร
  • นายปกรณ์ นภาเหมินทร์

คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ได้มีการพบปะประชุมร่างกฎหมายหลายครั้งหลายงาน สุดท้ายนำเข้าประชุมใหญ่สมาชิกสามัญประจำปี พ.ศ. 2536 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนโครงสร้างของ “ชมรม” มาเป็น “สมาคม” จากนั้นคณะกรรมการได้นำจดทะเบียนต่อกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ และได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2536 อย่างเป็นทางการในนาม “สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย” คณะกรรมการบริหารสมัยสุดท้ายของชมรมฯ โดยการนำของนายอนันต์ พิสิฐประภา ได้นำพาชมรมฯ ส่งต่อที่ประชุมใหญ่จนหมดวาระ และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดแรกในนาม “สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย” ปีบริหาร พ.ศ.2537-พ.ศ.2539

“สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย” ได้ประกาศจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 390 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานชั้นนำของประเทศไทย สมาคมฯมีคณะกรรมการบริหาร รวม 30 ท่าน ประกอบด้วยกรรมการที่มาจากสมาชิกกลุ่มร้านค้าปลีก 20 ท่าน และกรรมการที่มาจากสมาชิกในกลุ่มโรงงานผู้ผลิต, บริษัทนำเข้าและส่งออก และกลุ่มร้านค้าส่งอีก 10 ท่าน โดยมีคุณประคุณ ประคุณศึกษาพันธ์ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมฯ ในสมัยแรก (ปีบริหาร พ.ศ.2537 - พ.ศ.2539) จนถึงช่วง พ.ศ.2539 – พ.ศ.2541

หลังจากที่ได้ก่อตั้งสมาคมฯ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 คณะกรรมการของสมาคมฯ จึงมีมติร่วมกันในการจัดหาสถานที่เพื่อเป็นที่ทำการถาวรของสมาคมฯ และเพื่อสะดวกในการดำเนินงานในทุกๆด้านของสมาคมฯ โดยมีมติที่ประชุมให้จัดซื้อห้องชุดชั้น 11 ของอาคารสำนักงานเอส.วี.ซิตี้ ถนนพระราม 3 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งมีเนื้อที่ใช้สอย 178 ตารางเมตร เป็นที่ทำการถาวรของสมาคมฯ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยมีคุณสมัย กวักเพฑูรย์ เป็นประธานคณะกรรมการโครงการจัดหาทุนในเวลานั้น